1.2อุบัติเหตุจากสารเคมี

2.1 ไฟไหม้
ไฟไหม้เป็นอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเสมอ เมื่อมีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ วิธีป้องกันที่ดี ที่สุดคือไม่ใช้หรือไม่ปล่อยให้มีเปลวไฟในห้องปฏิบัติการ การต้มตัวทำละลายอินทรีย์ต้องทำในอ่างน้ำร้อนเท่านั้น ห้ามทำให้ ร้อนบนฮ็อตเพลตโดยตรง และไม่ควรปล่อยตัวทำละลายอินทรีย์ที่ระเหยง่ายไว้ในบีกเกอร์โดยไม่มีฝาปิด เพราะไอของตัวทำ-ละลายจะแผ่ปกคลุมไปตามโต๊ะปฏิบัติการ และเมื่อติดไฟแล้วจะลุกลามมาทบีกเกอร์ต้นเหตุ ทำให้เกิดไฟไหม้รุนแรงได้


2.2 การระเบิด
การระเบิดมักเกิดจากการต้มสารเคมีหรือทำปฏิกิริยาใดๆในภาชนะที่เป็นระบบปิดมิดชิด ก่อนเริ่มกลั่น หรือเริ่มทำปฏิกิริยาต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีช่องทางระบายไอออกจากระบบแล้ว อีกกรณีหนึ่งคือ การทำปฏิกิริยา ระหว่างสารเคมีที่ห้ามผสมกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะไม่รู้มาก่อน อันตรายของการระเบิดจะเนื่องมาจากเศษแก้วแตกทิ่มแทงและ สารเคมีกระเด็นถูกร่างกาย ซึ่งอาจทั้งร้อนและกัดกร่อนหรือเป็นพิษ


2.3 ผิวหนังไหม้เกรียม 
อุบัติเหตุเล็กๆที่เกิดขึ้นบ่อยมากคือ ผิวหนังไหม้เกรียม สาเหตุอาจเกิดจากสารเคมีหกรด ตามร่างกาย และการทำงานที่เกี่ยวกับความร้อน เนื่องจากสารเคมีหลายประเภท เช่น กรดและเบส เป็นต้น มีสมบัติกัดกร่อน ต่อผิวหนัง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง ถ้าหกเลอะบนพื้นโต๊ะปฏิบัติการหรือที่ใดก็ตาม จะต้องทำความสะอาดทันทีด้วย ความระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ถ้าหกเลอะปริมาณมากต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการมาจัดการ เมื่อสัมผัสกับสารเคมีแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที แต่ถ้าหกรดตัวเป็นบริเวณกว้าง ให้ถอดเสื้อผ้า ที่เปื้อนออก และเช็ดหรือซับสารเคมีออกจากตัวอย่างรวดเร็ว แล้วจึงชำระล้างโดยใช้ที่ล้างตัวฉุกเฉินนานอย่างน้อย 15 นาที ในกรณีที่ต้องทำงานกับความร้อน ต้องใช้ถุงมือกันความร้อน หรืออุปกรณ์สำหรับหยิบหรือจับของร้อน


2.4 แก้วบาด 
อุบัติเหตุแก้วบาดที่เกิดบ่อยที่สุดคือระหว่างการใช้งานเครื่องแก้ว และเทอร์โมมิเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาสวมต่อเครื่องแก้วกับเครื่องแก้วอีกชิ้นหนึ่งหรือสายยาง วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ ต้องหล่อลื่นเครื่องแก้วโดยใช้น้ำหรือกรีส ทาบางๆที่ข้อต่อของเครื่องแก้ว หรือบริเวณที่จะสวมต่อกันให้ทั่ว จากนั้นจับอุปกรณ์ตรงตำแหน่งห่างจากปลายที่ต้องการสวม ต่อกันประมาณ 1 นิ้ว แล้วสวมหรือสอดเข้าหากันโดยออกแรงดันเพียงเล็กน้อย พร้อมกับหมุนอุปกรณ์ช้าๆ เลื่อนตำแหน่งที่จับ แล้วทำซ้ำจนได้ระยะที่ต้องการ เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ให้ถอดออกโดยค่อยๆขยับพร้อมกับหมุนช้าๆและออกแรงดึงเพียงเล็กน้อย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายรุนแรง เนื่องจากการทิ่มแทงของเครื่องแก้วแตก ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทและเส้นเอ็น ขาดได้


2.5 การสูดดมไอของสารเคมี 
สารเคมีทุกชนิดมีความดันไอค่าหนึ่ง ในห้องปฏิบัติการจึงมีกลิ่นไอของสารเคมีปะปนอยู่ มากมาย ถ้าเก็บสารเคมีไว้ปริมาณมาก จะมีไอของสารเคมีในบรรยากาศมาก เมื่อสูดดมไอของสารเคมีบางชนิดจะทำให้จมูก คอ และปอดระคายเคือง ความเป็นอันตรายขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย จึงต้องหลีกเลี่ยงการสูดดมไอของสารเคมี โดยตรง ถ้าจำเป็นต้องทดสอบด้วยการสูดดม ให้ถือภาชนะบรรจุสารเคมีห่างจากตัวประมาณ 6 นิ้ว แล้วใช้มือโบกพัดไอ เข้าหาจมูก ถ้าต้องการระเหยตัวทำละลายออก ต้องทำในตู้ดูดควัน หรือทำโดยการกลั่น ห้ามระเหยแห้งโดยการต้มในภาชนะเปิด ที่โต๊ะปฏิบัติการ


2.6 สารเคมีเข้าปาก 
สารเคมีเข้าปากมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ที่พบเห็นบ่อยมี 3 แบบ คือ การดูดสารเคมีเข้าพิเพตด้วยปาก ไม่ล้างมือเมื่อเปื้อนสารเคมี และการแอบกินลูกอมหรือของขบเคี้ยวในห้องปฏิบัติการ การป้องกันไม่ให้สารเคมีเข้าปากทำได้ ง่ายๆ คือ ใช้ลูกยางหรืออุปกรณ์ดูดสารเคมีเข้าพิเพต ห้ามดูดด้วยปากโดยเด็ดขาด ล้างมือทุกครั้งเมื่อเปื้อนสารเคมี จะช่วยลด โอกาสการปนเปื้อนของสารเคมีบนใบหน้า เนื่องจากเผลอเอามือป้ายหน้า หรือการปนเปื้อนของสารเคมีบนสิ่งของต่างๆ ที่หยิบ หรือจับต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องล้างมือให้สะอาดก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ และก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนี้แล้วยัง มีข้อห้ามอื่นๆ ได้แก่ ห้ามนำเกลือ น้ำตาล แอลกอฮอล์ ในห้องปฏิบัติการไปผสมหรือปรุงอาหาร ห้ามใช้เครื่องแก้วใดๆ ใส่อาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามแช่อาหารหรือเครื่องดื่มในตู้เย็นที่เก็บสารเคมีหรือตู้น้ำแข็ง และห้ามรับประทานน้ำแข็งจาก ตู้น้ำแข็งในห้องปฏิบัติการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น